This post is also available in: อังกฤษ
นับตั้งแต่การก่อตัวขึ้นของขบวนการประชาธิปไตยและกิจกรรมขับเคลื่อนความคิดทางการเมืองในประเทศไทยในปี 2562 มีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) กับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง แม้ว่า พ.ร.บ.คอมฯ จะได้รับการแก้ไขในปี 2560 แต่ยังมีบทบัญญัติที่เป็นปัญหา และมีถ้อยคำที่คลุมเครือ จนเกิดเป็นโทษทางอาญาจากการใช้เสรีภาพการแสดงออก และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการมุ่งดำเนินคดีกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตภายใต้ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับนี้ การวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์โดยมีเนื้อหามุ่งไปที่รัฐบาลได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกับ “ข่าวปลอม” (fake news) หรือ “ข้อมูลที่บิดเบือน” (disinformation) อันกระทบกับความมั่นคงของชาติหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เอ็นเกจ มีเดีย (EngageMedia) และสถาบันวิจัย เอเชีย เซ็นเตอร์ (Asia Centre) จัดทำรายงานเพื่อระบุผลกระทบของ พ.ร.บ.คอมฯ ต่อเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย โดยโครงการนี้ เอ็นเกจ มีเดีย นำเสนอเอกสารเชิงนโยบายที่รวบรวมขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัยจากเอกสาร และการสัมภาษณ์กับทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักรณรงค์เชิงนโยบาย และนักวิชาการ
“พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย: การจำกัดสิทธิดิจิทัล และการปิดปากผู้เห็นต่างบนพื้นที่ออนไลน์” ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย
Report Thailands Computer Crime
รายงานฉบับนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โดยวิเคราะห์ถึงบทบัญญัติใน พ.ร.บ.คอมฯ ที่เป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิดิจิทัล รวมถึงเสรีภาพการแสดงออก และสิทธิความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ ยังนำเสนอกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า พ.ร.บ.คอมฯ ถูกนำไปใช้เพื่อปฏิเสธการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ รวมถึงการข่มขู่ และดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังสร้างแรงกดดันต่อบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ถอดเนื้อหาที่มีการโจมตีรัฐบาลออกจากแพลตฟอร์ม รายงานฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาล ภาคประชาสังคม และบริษัทเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิดิจิทัล
รายงานฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อกฎหมายว่าด้วยกิจการไม่แสวงหากำไร (ไอซีเอ็นแอล) (International Center for Not-for-Profit Law: ICNL)
ช่วยกันกระจายข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ
นอกเหนือจากรายงานแล้ว โครงการนี้ได้ทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- สร้างความตระหนักรู้และศักยภาพของคนไทย โดยสร้างความเข้าใจว่า พ.ร.บ.คอมฯ กระทบกับสิทธิดิจิทัลของพวกเขาอย่างไร และควรจะคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์อย่างไร
- เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายนักรณรงค์ด้านสิทธิดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
คุณสามารถใช้สื่อด้านล่างนี้เพื่อกระจายข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ และผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวได้