This post is also available in: อังกฤษ
ภายใต้สถานการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นประเทศไทย องค์กรเอ็นเกจ มีเดีย เอเชีย เซ็นเตอร์ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอวาระสิทธิทางดิจิทัล 4 ประการที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้กลไกด้านประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวาระเหล่านี้สามารถทำได้ผ่านทางการแก้ไขกฎหมายและการยุติแนวปฏิบัติที่ขัดขวางการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ประเด็นที่ 1 ส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก แม้จะมีการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เสรีภาพในการแสดงออกกลับถูกจำกัดอย่างเข้มงวดในประเทศไทย กฎหมายที่มีความคลุมเครือ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง นักข่าว นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ การปราบปรามนี้ส่งผลโดยตรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยและก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อและพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่ออนไลน์
ประเด็นที่ 2 สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส และการสำรวจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้อย่างทั่วถึง ถึงแม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ) แต่รัฐบาลก็ได้ทำการปฏิเสธคำขอเพื่อเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างต่อเนื่องโดยอ้างความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง อีกทั้งยังได้ยื่นคำร้องต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบริษัทแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดียให้ลบเนื้อหาที่รัฐเห็นว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน
ประเด็นที่ 3 เคารพและปกป้องสิทธิในความเป็นส่วนตัว พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจากการถูกจัดเก็บหรือส่งต่อโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิม นอกจากนี้ความมั่นคงของชาติไม่ควรถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการสอดแนมและสอดส่องการสื่อสารหรือกิจกรรมของประชาชน รวมถึงการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 4 จัดการกับปัญหาข่าวปลอม การจัดการกับข่าวปลอมและข้อมูลที่เป็นเท็จบนพื้นที่ออนไลน์ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง และมั่นใจว่ากลไกในระบอบประชาธิปไตยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดตั้งกลไกในตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลและมักถูกใช้เพื่อปกป้องจุดยืนของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปจึงต้องเกิดขึ้นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความเป็นกลางของหน่วยงานของรัฐกลับมา
พรรคการเมืองในประเทศไทยควรให้ความสำคัญและควบรวมประเด็นเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของพรรค รวมทั้งผลักดันการแก้ไขกฎหมายและแนวปฏิบัติที่กระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล และสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน
องค์กรเอ็นเกจ มีเดียจะนำเสนอรายงานต่อตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ และเผยแพร่รายงานฉบับเต็มในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป ณ Asia Centre Meeting Hub พญาไท
หมายเหตุ: ดำเนินกิจกรรมเป็นภาษาไทย