Search
Close this search box.

รายงานฉบับใหม่ย้ำถึงผลกระทบของ พ.ร.บ.คอมฯ ต่อการแสดงออกบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย

เอ็นเกจ มีเดีย (EngageMedia) ร่วมกับสถาบันวิจัย เอเชีย เซ็นเตอร์ (Asia Centre) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย: การจำกัดสิทธิดิจิทัล และการปิดปากผู้เห็นต่างบนพื้นที่ออนไลน์” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โดยรายงานฉบับนี้วิเคราะห์บทบัญญัติต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ. คอมฯ และผลกระทบของกฎหมายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

จากการทบทวนบทบัญญัติที่เป็นที่ถกเถียงใน พ.ร.บ. คอมฯ ประกอบกับการสัมภาษณ์นักข่าว นักกิจกรรม และคนทำงานในภาคประชาสังคม รายงานฉบับนี้อธิบายว่าบทบาทบัญญัติเหล่านั้นจำกัดสิทธิดิจิทัล รวมถึงเสรีภาพการแสดงออก และสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างไรบ้าง พร้อมกันนี้ยังนำเสนอกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า พ.ร.บ.คอมฯ ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ รวมถึงการข่มขู่ และดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังสร้างแรงกดดันต่อบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ถอดเนื้อหาที่มีการโจมตีรัฐบาลออกจากแพลตฟอร์ม

รายงานนี้จัดทำขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาล ภาคประชาสังคม และบริษัทเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิดิจิทัล

อ่านรายงานฉบับภาษาไทย

ในงานนี้ ญาวีร์ บุตรกระวีร์ ผู้จัดการโครงการสิทธิดิจิทัลในภูมิภาคแม่โขงของเอ็นเกจ มีเดีย ได้กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2563 – 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐไทยได้ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน และเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการใช้ พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ผมเชื่อว่างานวิจัยฉบับนี้มาในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม และมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันเป็นเวลาที่ประเทศต่าง ๆ กำลังหลุดพ้นจากวิกฤตโรคระบาดโควิด มันย้ำเตือนให้เรานึกถึงการใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์ เมื่อการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมากเนื่องจากนโยบายทางด้านสาธารณสุขและการเดินทาง ซึ่งส่งผลต่อการจำกัดการรวมกลุ่มกันของประชาชนด้วย” ญาวีร์ กล่าว

ในช่วงนำเสนอรายงาน กอปร์กุศล นีละไพจิตร นักวิจัยจากสถาบันเอเชีย เซ็นเตอร์ ระบุว่า พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้กลายเป็นภาระสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ตัวกลาง (intermediaries) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มากกว่าทำหน้าที่ปกป้องสิทธิดิจิทัลของผู้ใช้งาน กฏหมายฉบับนี้ยังขัดกับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะกระจายศูนย์และไร้พรมแดน รวมทั้งยังพยายามควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์ และการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต

“กฎหมายฉบับนี้ควรใช้เพื่อจัดการกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น สปายแวร์ (spyware) หรือ มัลแวร์ (malware) มากกว่าใช้เพื่อดำเนินคดีกับการแสดงออกอย่างชอบธรรมบนพื้นที่ออนไลน์” กอปร์กุศลกล่าว

เสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย

พ.ร.บ. คอมฯ บัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี 2550 เพื่อจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้กระทำผิดทางอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิดิจิทัลและปิดปากผู้เห็นต่าง โดยการดำเนินคดีกับบุคคลและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการปิดกั้นเว็บไซต์และลบเนื้อหาบางประเภท ทั้งนี้ พ.ร.บ. คอมฯ ได้รับการแก้ไขในปี 2560 เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้การบังคับใช้ และยังคงบทบัญญัติที่เป็นปัญหาไว้

พ.ร.บ.คอมฯ ประกอบด้วยบทบัญญัติที่คลุมเครือ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังให้อำนาจกวาดล้างแก่เจ้าหน้าที่ในการนำกฎหมายไปใช้โดยปราศจากกระบวนที่โปร่งใส กำหนดโทษทางอาญาที่รุนแรงต่อผู้กระทำผิด และสร้างแรงกดดันต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ขอให้ลบเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กฎหมายฉบับนี้จึงนำไปสู่การปิดปากตัวเองของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

ในระหว่างงานเปิดตัวรายงานฉบับนี้ ชุติมา สีดาเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.คอมฯ กล่าวว่า “ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนขาดการศึกษาและความตระหนักรู้เท่านั้น แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายและการคอร์รัปชันซึ่งทำให้กฎหมายนี้ยิ่งแย่ลง”

เธอกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้เธอกำลังให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในโคราช ซึ่งถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ทางการว่าจะใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความเห็นนบโลกออนไลน์เกี่ยวกับการฉ้อโกงกองทุนหมู่บ้าน

นอกจากนี้ ชุติมายังเล่าประสบการณ์ของเพื่อนร่วมงานของเธอในช่วงที่ทั้งคู่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.คอมฯ โดยเธอกล่าวว่า “ช่วงที่อลัน [มอริสัน ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวภูเก็ตหวาน] ถูกดำเนินคดี ศาลไม่อนุญาตให้เขาเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด แม้ว่าญาติของเขาจะเสียชีวิต”

นอกจากรายงานฉบับนี้แล้ว เอ็นเกจมีเดียยังได้นำเสนอวีดีโอที่เน้นย้ำถึงข้อค้นพบสำคัญในรายงานอีกด้วย

LEARN MORE ABOUT THE COMPUTER CRIME ACT