This post is also available in: อังกฤษ
แปลไทยโดย ธีรดา ณ จัตุรัส
บทความนี้เป็นบทความที่สองในซีรีย์บทความที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่มาจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในประเด็นนี้
จากบทความก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงคำนิยามของ AI และ Machine Learning พร้อมทั้งยังได้พิจารณาประเด็นของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว ส่วนในบทความนี้และบทความถัดไป เราจะกล่าวถึงต่อในเรื่องผลกระทบที่มีต่อ 1. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (Economic, Social, and Cultural Rights – ESCR) และ 2. สิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights – CPR) เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยในบทความนี้จะเน้นถึงผลกระทบที่มีต่อประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (ESCR)
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (ESCR) คืออะไร
จากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษา ประกันสังคม เงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสม คุณภาพชีวิตที่ดี และการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ สิทธิต่างๆเหล่านี้จัดว่าเป็นสิทธิเชิงบวก (positive rights) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อเติมเต็มให้สิทธิเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น การจัดหางานที่ดีให้ สิทธิเชิงบวกนี้ตรงกันข้ามกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการละเว้นกระทำและไม่ขัดขวางอันเป็นการละเมิดสิทธิในทางนี้ เช่น การไม่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก
ข้อสังเกตสำคัญก็คือ ความหมายของ ESCR ที่เกี่ยวข้องกับ AI ไม่ได้ตีความแบบสองขั้ว เช่น “ดี” หรือ “เลว” แม้ว่าจะนำหลักการนี้ไปใช้แบบเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี บางคนได้รับผลดีแต่บางคนอาจได้รับผลกระทบเชิงลบ ตัวอย่างที่เห็นได้คือ การใช้ AI ช่วยในการตัดสินใจเลือกลูกค้าที่มีเครดิตที่น่าไว้วางใจโดยพิจารณาจากชุดข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ที่ไม่มีกำลังซื้อมากนัก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะมีกำลังซื้อน้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงและทำให้มีข้อมูลประวัติการใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ถึงประวัติการมีเครดิตที่น่าไว้วางใจ แต่การใช้ชุดข้อมูลอื่นที่มีขอบเขตกว้างขวางกว่าประวัติเรื่องเครดิตก็อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติจากการใช้ชุดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือบางครั้งอาจเกิดการใช้ข้อมูลโดยพลการ เช่น กรณีที่ใช้ AI มาวิเคราะห์และให้ผลคะแนนต่ำถ้าผู้สมัครคนนั้นพิมพ์อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด (all-caps) ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อค่าเริ่มต้น
บทความนี้จะมองผลกระทบของ AI ที่มีต่อ ESCR แบ่งออกมาเป็น 2 แบบ คือ 1. ผลกระทบเมื่อไม่ใช้ AI เพื่อการพัฒนา และ 2. ผลกระทบทางลบจากการใช้ AI
ประโยชน์ด้านการพัฒนาของ AI
หากใช้ AI แบบมียุทธศาสตร์และเป็นไปอย่างเหมาะสมแล้วย่อมสามารถเพิ่มผลประโยชน์ได้ ทางการพัฒนาอย่างมหาศาล รวมไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย แต่ความเป็นจริงแล้ว AI ยังสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในอีกหลายด้าน เช่นเดียวกับตัวอย่างดังต่อไปนี้ที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีได้ช่วยให้เกิดผลสำเร็จด้านการพัฒนาได้อย่างไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ด้านสุขภาพ: ในสิงคโปร์ บริษัท start-up ที่ชื่อว่า Kronikare ร่วมมือกับ AI Singapore พัฒนาระบบที่ช่วยรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และวินิจฉัยบาดแผลที่มีสภาพเรื้อรัง ระบบนี้ได้มีการใช้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งในโรงพยาบาลและบ้านพักผู้สูงอายุบางแห่งในสิงคโปร์
- ด้านการจราจร: ในกัวลาลัมเปอร์ บริษัท Malaysia City Brain ร่วมมือกับบริษัท Alibaba, Malaysia Digital Economy Corporation และสภาเมืองของกัวลาลัมเปอร์ ได้ตั้งเป้าในการลดการจราจรที่ติดขัดในเขตเมือง โดยบริษัท City Brain ในเมือง Hangzhaou ประเทศจีน ได้ริเริ่มใช้โครงการนี้ไปแล้วและทำให้บริหารสภาพคล่องทางการจราจรเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 15% ในบางพื้นที่
- ด้านการศึกษา: แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาที่ชื่อว่า Ruangguruในอินโดนีเซีย ช่วยให้นักเรียนและครูสามารถดำเนินการเรียนการสอน พร้อมทั้งมีวิดีโอสื่อการสอนในหลายวิชา และยังได้ใช้ AI เพื่อการออกแบบบทเรียนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับนักเรียนได้ โดยสามารถรองรับนักเรียนได้ประมาณ 15 ล้านคน และ 80% ของนักเรียนกลุ่มนี้อาศัยอยู่นอกเขตเมือง
- ด้านความมั่นคงทางอาหาร: ในเวียดนาม บริษัท start-up หลายแห่งกำลังใช้ AI และระบบเซ็นเซอร์ของ Internet of Things (IoT) เพื่อเพิ่มการผลิตทางการเกษตร การประหยัดการใช้น้ำ และการให้ปุ๋ย บริษัท start-up ที่ชื่อว่า Sero ระบุว่าถึง 70% – 90% ของความแม่นยำในการจำแนกชนิดโรคของพืชได้ถึง 20 ชนิด ซึ่งทำให้สามารถลดปริมาณความเสียหายในการปลูกพืชลงไปได้
แต่เมื่อพิจารณาทั้งหมด 11 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นต่างมีความไม่เท่าเทียมกันในระดับการประยุกต์ใช้และความสามารถในการใช้ AI ความไม่เท่าเทียมกันนี้เห็นได้จากรายงาน AI Government Readiness Index ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัย Oxford Insights and the International Development โดยได้จัดลำดับรัฐบาลต่างๆโดยพิจารณาจากความพร้อมในการใช้ AI ทั้งในด้านบริหารรัฐกิจและการส่งมอบงาน จากการจัดลำดับในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นผู้นำในระดับโลก ส่วนอีก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอยู่ใน 100 อันดับประเทศที่รัฐบาลมีความพร้อมในการนำ AI มาใช้งาน ได้แก่ มาเลเซีย (อันดับ 22), ฟิลิปปินส์ (อันดับ 50), ประเทศไทย (อันดับ 56), อินโดนีเซีย (อันดับ 57) และเวียดนาม (อันดับ 70)
COUNTRY (WORLD RANKING) | SCORE |
---|---|
Singapore (1) | ~9.186 |
Malaysia (22) | ~7.108 |
Philippines (50) | ~5.704 |
Thailand (56) | ~5.458 |
Indonesia (57) | ~5.420 |
Vietnam (70) | ~5.081 |
Brunei Darussalam (121) | ~3.143 |
Cambodia (125) | ~2.810 |
Laos (137) | ~2.314 |
Myanmar (159) | ~1.385 |
Timor Leste (173) | ~0.694 |
โดยประเทศที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในอันดับต้นๆนั้นต่างมียุทธศาสตร์แห่งชาติหรือกำลังร่างขึ้นมา โดยตั้งเป้าหมายในเรื่องการสนับสนุนการพัฒนา AI ให้เกิดขึ้นภายในประเทศของตน เพื่อจะเป็นข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีและมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา AI เพื่อขับเคลื่อนความคิดริเริ่มต่างๆทางด้านการพัฒนา AI กรณีประเทศสิงคโปร์มียุทธศาสตร์เรื่องปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National Artificial Intelligence Strategy) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การเป็นผู้นำในด้านการพัฒนา AI ภายในปี 2573 นี้ ยุทศศาสตร์นี้ยังได้ทำให้ระบบนิเวศของ AI มีความเข้มแข็งยิ่งขี้น ทั้งยังได้เสนอความช่วยเหลือทางการเงินมากกว่า 500 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นที่มีนโยบายทางด้านการพัฒนา AI เช่น ประเทศมาเลเซีย (ซึ่งมีกรอบแนวทางปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ หรือ National AI Framework ในปี 2563 และนโยบายทางด้านข้อมูลและ AI แห่งชาติ หรือ National Data and AI Policy ที่ได้รับการเสนอในคณะรัฐมนตรี) และประเทศอินโดนีเซีย (ที่ตั้งเป้าไปที่การสร้างกลยุทธ์ปัญญาประดิษฐ์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้)
ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆกลับยังคงต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เช่น ติมอร์-เลสเต ที่มีสัดส่วนประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพียง 30.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนประเทศเมียนมามีจำนวน 33.1% และประเทศลาวมีจำนวน 35.4% นั่นทำให้เห็นว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้
ขณะที่รัฐบาลอาจจะมีความพร้อมที่ช้าในด้านการพัฒนา AI แต่ฝั่งภาคเอกชนกลับเร่งเดินหน้าเพื่อเสนอบริการด้าน AI เพราะต้องการที่จะกระโดดเข้าร่วมกระแส “smart” ซึ่งรวมไปถึงการใช้ AI ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ส่วนการเปิดตัวเครือข่ายเมืองอัจริยะแห่งอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network – ASCN)เมื่อปี 2561 ได้มีสมาชิกเข้าร่วมจาก 26 เมืองทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาของเมือง ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของเครือข่ายนี้ยังเน้นไปยังการเชื่อมต่อเมืองเหล่านี้เข้ากับผู้ให้บริการภาคเอกชนที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยี
ในภาพรวมจากแผนการและวิสัยทัศน์ต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นความหวัง จากการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนาของเครือข่าย ASCN ที่ต้องการสร้างความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม สุขภาพและคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างสาธารณูปโภค รวมทั้งอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่
ความเสี่ยงซึ่งอาจเกิดจาก AI ที่ส่งผลกระทบต่อ ESCR
ประโยชน์ด้านการพัฒนาที่เกิดจาก AI นั้นย่อมขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ นี่คือจุดที่มีความเสี่ยงมากมาย แม้ว่าจะยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและอันตรายจากการใช้ AI ในภูมิภาคของเรา เพราะนี่ถือเป็นช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาทางเทคโนโลยีทว่าพวกเรายังคงต้องจับตาดูปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเรียนรู้และเท่าทัน
เช่นกรณีตัวอย่างที่ปรากฏในบทความที่มีชื่อว่า Automating Poverty ของ The Guardian เล่าถึงผลกระทบที่เกิดในประเทศอินเดีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย จากการใช้ระบบ AI ที่มีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยได้นำมาปรับใช้กับระบบประกันสังคม ผลลัพธ์กลับทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และเป็นการลงโทษกลุ่มคนชายขอบมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกรณีของอินเดียทำให้เห็นผลกระทบที่ตามมาอย่างรุนแรงในการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิดที่เกิดขึ้นในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา จากการเปลี่ยนผ่านจากระบบกระดาษไปสู่ระบบดิจิทัลยิ่งทำให้กลุ่มคนยากจนมีความเปราะบางมากขึ้นในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี นับตั้งแต่ปัญหาเรื่องไฟดับ ความไม่เสถียรของอินเตอร์เน็ตไปจนถึงการที่ไม่รู้ว่าทำไมตนเองถึงถูกปฏิเสธจากระบบประกันสังคม ทั้งที่ระบบนั้นควรต้องครอบคลุมถึงการคุ้มครองทางสังคมและการขอเงินค่ารักษาพยาบาลคืนแก่คนจน โดยความผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้นอาจะนำไปสู่ความตายและความหิวโหย
ระบบที่เอนเอียง และการเข้าถึง
การตัดสินใจที่ไม่โปร่งใสเรื่องประกันสังคมด้วย AI จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่อันตรายและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา โดยมีอย่างน้อย 2 ด้าน ได้แก่ หนึ่งคือการมีชุดข้อมูลที่ดีพอสำหรับ Machine Learning ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ภูมิภาคนี้ยังขาด เพราะประชากรอีกจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต หรือคุณภาพของข้อมูลยังดีไม่พอ อย่างที่สองคือการที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยี AI นั่นหมายความว่า วิศวกรที่ออกแบบไม่ได้เข้าใจบริบทภายในประเทศของภูมิภาคนี้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความชิ้นแรกปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่อาจกระทบต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน
วิศวกรผู้พัฒนาโดยมากแล้วจะเป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจบริบทท้องถิ่นนั้นๆ
เมื่อผู้คนต่างพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแล้ว พวกเขาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาความพร้อมใช้งานและความมีเสถียรภาพของเทคโนโลยีด้วย ตามที่กล่าวในข้างต้น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่มีและคนไม่มี ซึ่งกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกหรือเหมาะกับการใช้งานในบริบทของตนเอง การเข้าถึงระบบ AI นั้นอาจจะมองได้หลายแง่มุม ซึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงและบางครั้งอาจจะนำไปใช้งานจริงไม่ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะเกิดจากอุปสรรคจากเรื่องของความบกพร่องในเชิงทางกายภาพหรือจิตใจ รวมไปถึงผู้ที่มีระดับการศึกษาน้อย ผู้ที่ไม่ได้มีความเท่าทันเรื่องดิจิทัลหรือแม้กระทั่งการเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ
ปัญหาขั้นพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังก่อนจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการใช้ AI เพื่อหาทางออก
ทุกปัญหาไม่สามารถแก้ไขด้วยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
เทคโนโลยีไม่ใช่ยาวิเศษที่ตอบปัญหาได้ทุกปัญหา
ไม่ใช่ทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไขด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ตามที่ได้กล่าวถึงในบทความของ The Guardian ที่ได้ยกกรณีศึกษาจากประเทศอินเดีย เพื่อชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาที่มาจากความไม่มีประสิทธิภาพของระบบที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องการทุจริตและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของผู้บริหารระดับสูง และปัญหาเรื่องบัตรประชาชนปลอมที่เป็นปัญหาของ Aadhaar เมื่อกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในเชิงโครงสร้างและการแก้ปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยีอาจทำให้เบี่ยงประเด็นความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและยังเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก
เมื่อมองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะพยายามปรับการใช้ AI กับหลายสิ่ง จนนำไปสู่ออกแถลงการณ์ของผู้นำระดับสูงที่ต้องการสร้างแนวทางในการใช้ AI ในหลายภาคส่วน เช่น ประธานาธิบดีโจโกวีของอินโดนีเซียที่ออกมาประกาศว่า จะใช้การบริหารงานราชการด้วยการใช้ AI แทนเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่รัฐมนตรีศึกษาธิการของมาเลเซียออกมากล่าวว่า จะใช้ Machines มาช่วยให้คำแนะนำทางด้านการวางแผนวิชาชีพให้แก่นักเรียนในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า นี่เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ในการแก้ปัญหาที่ประเทศของตนกำลังเผชิญหน้าอยู่ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใหนย่อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาหารือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและการประเมินผลกระทบต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย
ความกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นจากการใช้ AI
ท้ายที่สุด เมื่อมีการพูดถึง AI ในบริบทของภูมิภาคนี้ AI ก็มักจะถูกมองจากมุมของการเพิ่มความเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือไม่ก็ AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานคน การมองแบบนี้เปรียบเสมือนมองเหรียญสองด้าน นั่นคือบริษัทเอกชนจะเข้ามาแสวงหากำไรจากการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วย Machines แม้ว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้ทดแทนด้วย Machines แต่พวกเราต่างเริ่มเห็นแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า gig economy เช่นการเกิดขึ้น Grab และ Go-Jek หรือแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ โดยมากแล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้รัฐบาลต่างๆยังไม่มีการออกกฎเพื่อมาควบคุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ทำให้มีความกังวลในเรื่องการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน โดยผ่านการที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้นำอัลกอริทึมมาปรับใช้
รัฐบาลในอาเซียนส่วนใหญ่มองว่า AI เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าเป็นการพัฒนาทางสังคม
จากการตั้งข้อสังเกตของเวทีการพูดคุยต่างๆเกี่ยวกับ AI ซึ่งทำให้เห็นว่า หลายรัฐบาลในภูมิภาคาอาเซียนได้ใช้ AI ในฐานะตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาทางสังคม จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า การนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการแสวงหากำไรของเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้อื่นและโลกของเรา สถานการณ์ที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในทุกวันนี้ เพียงแต่ AI จะเข้ามาเพิ่มอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าหลายเท่าตัว
บทสรุป
ในเรื่องผลกระทบจาก AI ต่อสิทธิต่างๆในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น ผู้เขียนได้ให้คำตอบสั้นๆต่อคำถามที่ว่า AI เป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นอันตรายในบริบทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคำตอบก็คือ “ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนำ AI ไปใช้ทำอะไร” ส่วนภาคประชาสังคมในภูมิภาคนี้ยังคงต้องทำความเข้าใจมากขึ้นและสร้างพื้นที่การถกเถียงร่วมกันในประเด็นนี้ให้มากขึ้น ทั้งในมุมข้อดี ข้อเสีย ความท้าทาย ที่มีต่อเงื่อนไขของแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้
ส่วนคำถามที่ว่า AI จะช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นหรือแย่ลง หรือความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ประเด็นเหล่านี้จะกล่าวถึงในบทความต่อไปที่ชวนคิดถึงเรื่องผลกระทบของ AI ต่อสิทธิพลเมืองและทางการเมือง
เกี่ยวกับผู้เขียน
Dr. Jun-E Tan เป็นนักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย งานวิจัยและการสนับสนุนของ Jun-E นั้นเกี่ยวกับประเด็นการสื่อสารทางดิจิทัล สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน บทความในปีวิจัยล่าสุดของ Jun-E มีชื่อว่า “สิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์: กรอบแนวคิดและการสร้างขบวนการเคลื่อนไหว” (Digital Rights in Southeast Asia: Conceptual Framework and Movement Building) ได้เผยแพร่ในหนังสือ open access (สามารถ download เพื่ออ่านได้ฟรี) ที่มีชื่อว่า “การสำรวจความเกี่ยวเนื่องระหว่างเทคโนโลยีต่างๆและสิทธิมนุษยชน: โอกาสและความท้าทายที่หลากหลายในเอเชียอาคเนย์” (Exploring the Nexus Between Technologies and Human Rights: Opportunities and Challenges in Southeast Asia) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ SHAPE-SEA เมื่อเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้ Jun-E ยังได้เขียนบทความลงในบล็อกของตนเองอยู่เป็นประจำ