This post is also available in: อังกฤษ อินโดนีเซีย พม่า Khmer
ข้อกังวลเรื่องเผด็จการดิจิทัลและการจำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับผู้สนับสนุนด้านสิทธิที่เข้าร่วมงานรวมพลังในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สามของงานประชุม Asia-Pacific Digital Rights Forum
EngageMedia เป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกับ Asia Centre ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ เช่น iLaw (ไอลอว์), Manushya Foundation (มูลนิธิมานุษยะ), Human Rights Lawyers Association (สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน), Internews (อินเตอร์นิวส์), East-West Management Institute-Open Development Initiative, RECOFTC (ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า), Asian Institute of Technology (สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย), Yokosuka Council on Asia Pacific Studies และ Virtue Research
งานรวมพลังในกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในห้างานคู่ขนานที่จัดขึ้นในสถานที่จริง โดยงานที่เหลือจะจัดขึ้นที่เมืองธากา จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ และมะนิลา EngageMedia ขอเชิญชวนผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาอภิปรายกันต่อที่ Forum.EngageMedia.org/Discuss
ประชาธิปไตย เผด็จการดิจิทัล และการเลือกตั้ง
งานรวมพลังครั้งนี้อภิปรายเกี่ยวกับภาวะของเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมีการฉายภาพยนตร์ Tech Tales ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิทางดิจิทัลในประเทศไทย เมียนมา กัมพูชา และอินโดนีเซีย
ในช่วงเช้า Dr. James Gomez, Dr. Marc Piñol Rovira, กอบกุศล นีละไพจิตร จาก Asia Center และเสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล (แมท) บรรยายสรุปเกี่ยวกับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ตามด้วยการอภิปรายโต๊ะกลม
ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการหันไปใช้เผด็จการดิจิทัลมากขึ้นในประเทศไทย ผู้เข้าร่วมงานมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการทั้งทางกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายมากขึ้นเพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูด โดยอ้างว่าเป็นการรักษาความมั่นคงของชาติ แต่กฎหมายเหล่านี้ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียง ยังขาดความชัดเจนและกลับถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้เพื่อปราบปรามความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถูกจังหวะเวลายิ่งขึ้นไปอีกเนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยภายในปีนี้ ผู้เข้าร่วมงานกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐกำลังกดดันเสียงต่อต้านมากขึ้น แม้ว่าการเลือกตั้งควรเป็นการใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีความกลัวว่าเครื่องมือในการควบคุมและข้อมูลบิดเบือนในโซเชียลมีเดียจะสร้างความแตกแยกในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในงาน Danah Boyd ผู้ก่อตั้ง Data and Society ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับ agnotology หรือการศึกษาความไม่รู้ โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่รู้รูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากการหายไปของข้อมูลหรือความรู้ หรือเมื่อข้อมูลถูกวางแผนบิดเบือนจนทำให้เข้าใจได้ยากว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ในกรณีของประเทศไทย พลังอำนาจทางการเมืองและระบบกฎหมายกำลังกำหนดการใช้เทคโนโลยีในการยืนยันอำนาจและควบคุมคำพูดและความรู้
“ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมงานจึงย้ำว่าภาคส่วน ๆ จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อจัดการกับประเด็นเหล่านี้ก่อนการเลือกตั้ง ประภาสิริ สุทธิโสม (แนน) เจ้าหน้าที่โครงการสิทธิดิจิทัล EngageMedia ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การอภิปรายเจาะลึกถึงความสำคัญของการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและมาตรการสอดแนมเพื่อพัฒนาความโปร่งใสของรัฐบาล”
ประภาสิริกล่าวต่ออีกว่าพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ดังเช่นงานรวมพลังในวันนี้ จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย “งานรวมพลัง Asia-Pacific Digital Rights Forum ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นเวทีสำคัญในการอภิปรายประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับระบอบเผด็จการดิจิทัล และความจำเป็นในการเสริมสร้างขบวนการด้านสิทธิดิจิทัลในประเทศไทย”