This post is also available in: อังกฤษ อินโดนีเซีย พม่า Khmer
EngageMedia ปิดงานประชุม Asia-Pacific Digital Rights Forum ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วันในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2566 ด้วยงานรวมพลัง ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันใน 5 เมือง เปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุนสิทธิดิจิทัลกว่า 100 รายได้พบปะกับคนในแวดวงในประเทศของตนและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
งานคู่ขนานในกรุงเทพฯ ธากา จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ และมะนิลา จัดโดย EngageMedia ร่วมกับ Asia Centre, Digitally Right, SAFEnet, Indonesia Jentera School of Law, Jumpstart@65, และ Out of the Box Media Literacy Initiative ตามลำดับ
งานรวมพลังให้พื้นที่แก่ผู้เข้าร่วมในการเจาะลึกประเด็นด้านสิทธิดิจิทัลในประเทศของตน และกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงรายอื่น ๆ ในช่วงเย็น ผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวทั้ง 5 เมืองมีโอกาสพูดคุยกันทางวิดีโอคอลเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนได้เรียนรู้กับชุมชนด้านสิทธิดิจิทัลในระดับภูมิภาค
EngageMedia ขอเชิญชวนผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้หารือกันต่อที่ Forum.EngageMedia.org/Discuss
บอกเล่าเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการสอดแนมและเสรีภาพในการพูด
ในงานรวมพลัง ผู้เข้าร่วมพูดคุยเรื่องข้อกังวลด้านสิทธิดิจิทัลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับบริบทของตน มีหลายประเด็นที่เป็นความท้าทายร่วมกัน ได้แก่ เผด็จการทางดิจิทัล คำพูดแสดงความเกลียดชัง เสรีภาพในการพูดทางออนไลน์และการเซ็นเซอร์ และการเสริมสร้างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัลให้เข้มแข็ง
ผู้เข้าร่วมงานในมะนิลากล่าวถึงข้อกังวลที่สำคัญ ได้แก่ การสอดแนมของรัฐบาล การใช้กฎหมายเป็นอาวุธ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาททางไซเบอร์ กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย และกฎหมายการลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อยับยั้งการใช้สิทธิดิจิทัล และสภาพแวดล้อมของความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารในขณะนี้ ผู้เข้าร่วมเน้นว่าจำเป็นต้องทบทวนกลยุทธ์เพื่อให้การสนับสนุนท่ามกลางปัญหาเชิงระบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ประชาชนไม่รู้เท่าทันสื่อ และขาดทรัพยากรท้องถิ่นด้านสิทธิดิจิทัลที่ปรับให้เหมาะกับบริบททางวัฒนธรรม
ผู้เข้าร่วมงานในเมืองธากาพูดถึงความกังวลของตนที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการสอดแนมและเสรีภาพออนไลน์ โดยกล่าวถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเซ็นเซอร์ และชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการจำกัดเนื้อหาที่เป็นอันตรายกับการส่งเสริมเสรีภาพในการพูด ผู้เข้าร่วมยังหารือเรื่องความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ การอภิปรายยังเปลี่ยนจากการเล่าประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของชนกลุ่มน้อยทางเพศไปเป็นการสนทนาที่มีขอบเขตกว้างขึ้นเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม intersectional feminism และปัญหาของ LGBTQI+
การเซ็นเซอร์และคำพูดแสดงความเกลียดชังเป็นประเด็นสนทนาหลักในงานที่กัวลาลัมเปอร์ นอกจาก Sinar Project สาธิตการใช้ OONI Probe เพื่อการวิจัยและสนับสนุนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้หารือถึงวิธีจัดการกับการเซ็นเซอร์ออนไลน์และมาตรการป้องกันที่ควรมี ทั้งยังพูดคุยเกี่ยวกับวิธีระบุคำพูดแสดงความเกลียดชังและจัดการกับคำพูดเหล่านั้น
เผด็จการทางดิจิทัลและการเสริมสร้างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัล
ในประเทศไทย เน้นการอภิปรายเรื่องวิธีที่พลังอำนาจทางการเมืองและระบบกฎหมายกำหนดรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อแสดงอำนาจของเผด็จการทางดิจิทัล ผู้เข้าร่วมกล่าวว่าเจ้าหน้าที่มักหยิบยกเรื่องความมั่นคงของชาติขึ้นมาเพื่อยับยั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ แม้ว่าการเลือกตั้งควรเป็นการใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อกังวลว่าเครื่องมือที่จำกัดสิทธิและข้อมูลบิดเบือนอาจสร้างความแตกแยกได้
ในกรุงจาการ์ตา ผู้เข้าร่วมได้หารือเกี่ยวกับวิธีพัฒนาให้การเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัลแข็งแกร่งขึ้น โดยเน้นว่าต้องมีเครื่องมือที่ดีขึ้นและการฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้เพื่อให้การสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้องค์กรต่าง ๆ สนับสนุนกัน เพื่อให้พร้อมยิ่งขึ้นในการจัดการกับปัญหาด้านสิทธิดิจิทัลที่มีความซับซ้อน