This post is also available in: อังกฤษ อินโดนีเซีย พม่า Khmer
Vino Lucero ผู้จัดการ EngageMedia Digital Rights Project ขึ้นกล่าวในงานรวมพลังในมะนิลา
โดยผู้เข้าร่วมงานได้ระบุประเด็นสำคัญที่ผู้สนับสนุนด้านสิทธิดิจิทัลคาดว่าจะเผชิญในปี พ.ศ.2566
ในฟิลิปปินส์ ผู้สนับสนุนด้านสิทธิดิจิทัลยังคงเผชิญภัยคุกคามต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การใช้กฎหมายเป็นอาวุธคุกคามเสรีภาพในการพูดและความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ณ งานรวมพลังในมะนิลาที่จัดขึ้นในวันที่ 3 ของงาน Asia-Pacific Digital Rights Forum เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสร้างวาระสิทธิดิจิทัลสำหรับปี พ.ศ. 2566 และในภายภาคหน้า โดยมีการระบุประเด็นสำคัญด้านสิทธิดิจิทัลและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการจัดการประเด็นเหล่านี้
EngageMedia กับ Out of the Box Media Literacy Initiative ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานงานรวมพลังนี้ ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันกับงานคู่ขนานอื่น ๆ อีก 4 งาน ณ กรุงธากา กรุงเทพฯ จาการ์ตา และกัวลาลัมเปอร์ รวมทั้งเชิญผู้เข้าร่วมงานไปเสวนาเรื่องที่มีการพูดคุยกันภายในงาน ต่อที่ Forum.EngageMedia.org/Discuss
รายการสิ่งสำคัญสำหรับวาระสิทธิดิจิทัลของฟิลิปปินส์มีอะไรบ้าง? ณ ปัจจุบัน มีทรัพยากรอะไรบ้างที่แบ่งปันกันได้? ต่อไปนี้คือคำถามบางส่วนที่ผู้เข้าร่วมงานรวมพลังในมะนิลาต้องการคำตอบ
ในวันที่ 3 ของการประชุม Asia-Pacific Digital Rights Forum
ทบทวนกลยุทธในการผลักดันเชิงนโยบายด้านสิทธิดิจิทัลที่มีประสิทธิผล
งานนี้ ผู้เข้าร่วมงานได้ระบุปัญหาเร่งด่วนด้านสิทธิดิจิทัลที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิดิจิทัลคาดว่าจะเผชิญในพ.ศ. 2566 อาทิ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทางออนไลน์ ข้อมูลเท็จทางออนไลน์ การสอดแนมของรัฐบาล และการใช้กฎหมายเป็นอาวุธ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาททางคอมพิวเตอร์ กฎหมายการก่อการร้าย และกฎหมายการลงทะเบียนซิมการ์ดที่จำกัดเสรีภาพในการพูดและคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้คน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้ย้ำถึงข้อกังวลอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการผลักดันเชิงนโยบายด้านสิทธิดิจิทัล เช่น การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ประชาชนยังไม่ค่อยรู้เท่าทันสื่อ และเงินสนับสนุนที่มีอยู่จำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล
ผู้เข้าร่วมงานเน้นว่าต้องการได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นในการรณรงค์ด้านสิทธิดิจิทัลและการทำงานของกลุ่มที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิดิจิทัลได้มากขึ้น วิธีหนึ่งคือดูแลให้แน่ใจว่านำบริบททางภาษาและวัฒนธรรมเข้าไปสอดแทรกไว้ในกลยุทธการส่งเสริมสิทธิดิจิทัล ซึ่งอาจรวมถึงการปรับทรัพยากรต่าง ๆ ด้านสิทธิดิจิทัลให้เหมาะกับประเทศเพื่อให้ผู้รับสารชาวฟิลิปปินส์ทั่วไปเข้าใจได้
ท่ามกลางความซับซ้อนของภัยคุกคามต่อสิทธิดิจิทัลเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมงานกล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดใหม่และทบทวนกลยุทธของตน รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางให้มากขึ้นเพื่อให้งานส่งผลดีมากที่สุด
Monalisa Tabernilla จาก Philippine Commission on Human Rights (คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์) ย้ำว่า “เรามองหาพันธมิตรอยู่เสมอ” Monalisa ได้แชร์คลังข้อมูล eLibrary ของหน่วยงานรัฐบาลซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรด้านสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ส่วนทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีการแบ่งปันซึ่งสามารถเพิ่มรายละเอียดได้ด้วยการทำงานร่วมกัน ได้แก่ คู่มือเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทางออนไลน์และการละเมิดสิทธิดิจิทัลอื่น ๆ จาก Foundation for Media Alternatives รวมถึงคลังข้อมูลเนื้อหาทางกฎหมายและสื่อเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิดิจิทัลจาก Human Rights Online Philippines