This post is also available in:
อังกฤษ
อินโดนีเซีย
พม่า
Khmer

เครดิตภาพ: Ketiswary Subramaniam
การเซ็นเซอร์ คำพูดแสดงความเกลียดชัง และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีความหมายเป็นประเด็นสนทนาหลักในงานรวมพลังที่จัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของงานประชุม Asia-Pacific Digital Rights Forum
EngageMedia ร่วมกับ Jumpstart@65 ซึ่งเป็นศูนย์ชุมชนที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิ Hong Leong จัดงานให้ผู้เข้าร่วมมาพบปะกันในมาเลเซีย ซึ่งมีคู่ขนานกับงานรวมพลังอีก 4 แห่งในกรุงเทพฯ ธากา จาการ์ตา และมะนิลา
งานคู่ขนานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีพื้นที่พบปะบุคคลในแวดวงและรวมพลังกันในระดับภูมิภาค EngageMedia ขอเชิญชวนให้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอภิปรายกันต่อที่ Forum.EngageMedia.org/Discuss

การพูดคุยเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และคำพูดแสดงความเกลียดชังทางออนไลน์
งานเริ่มต้นด้วย Kelly Koh จากโครงการ Sinar มาแนะนำ OONI Probe และวิธีใช้เพื่อการวิจัยและสนับสนุนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต เป็นการเริ่มต้นอภิปรายเรื่องการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ แม้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของมาเลเซียจะค่อนข้างอิสระ แต่มีบางกรณีที่การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองถูกบล็อกทางออนไลน์ กรณีเหล่านี้ไม่ได้ถูกโต้แย้งและอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ในระหว่างการหารือ กลุ่มผู้เข้าร่วมยังได้พิจารณาถึงรูปแบบที่ถูกต้องตามกฎหมายของการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางออนไลน์ และควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สิทธิดิจิทัลยังคงได้รับการคุ้มครอง
จากนั้น Nalini Elumalai จาก ARTICLE 19 กล่าวถึงคำพูดแสดงความเกลียดชังทางออนไลน์และการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียในพ.ศ. 2565 Elumalai เห็นว่าเนื้อหาแสดงความเกลียดชังบนโซเชียลมีเดียมีจำนวนเพิ่มขึ้น และอธิบายมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่เป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เธอย้ำว่าการจำกัดสิทธิใด ๆ จะต้องชอบด้วยกฎหมาย มีความจำเป็น และมีสัดส่วนที่เหมาะสม กลุ่มผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ Rabat ซึ่งสรุปผลการทดสอบที่มีหกส่วนด้วยกัน เพื่อระบุการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและกรอบการทำงานในการจัดการกับคำพูดแสดงความเกลียดชัง
งานรวมพลังปิดท้ายด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง Grey Scale โดย Evelyn Teh ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของหญิงสูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังและพยายามใช้เครื่องมือดิจิทัล ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ภาพยนตร์เรื่องนี้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงกันว่าโลกที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอาจทำให้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ รู้สึกแปลกแยกและถูกกีดกันได้อย่างไร

เรียนรู้และหาทางคุ้มครองสิทธิดิจิทัล
งานนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้หารือข้อกังวลด้านสิทธิดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับบริบทของตนมากที่สุด Svetlana Zens ผู้จัดการโครงการสิทธิดิจิทัลของ Myanmar Center for Responsible Business กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิดิจิทัลเป็นเรื่องจำเป็น เพราะช่วยให้มั่นใจว่าบุคคลและชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งมีเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์ “สิ่งนี้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการศึกษาและอื่น ๆ และมีส่วนร่วมในการอภิปรายทางการเมืองและสังคม” เธอกล่าว
Zana Fauzi ซึ่งเป็นนักวิจัย เสริมว่าหากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามสิทธิดิจิทัลให้มากขึ้น ก็จะสามารถวางกลยุทธ์หาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้และปัญหาเชิงระบบที่อยู่เบื้องหลัง
“แม้ว่าโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีกระทำผิดมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบมากกว่านั้น เช่น ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ อาการเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ การเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งบ่อนทำลายสิทธิของคนชายขอบ จึงต้องแก้ไขด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีการทางกฎหมาย และควรปลูกฝังแนวทางที่ ‘ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม’ โดยคำนึงถึงความหลากหลายและกลุ่มชนต่าง ๆ” เธอกล่าว