วัคซีนพาสปอร์ต: เครื่องมือป้องกันโควิด-19 ที่ขาดประสิทธิภาพและเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล

This post is also available in: English Indonesia

ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์ VaxCertPH

ซึ่งเป็นระบบรับรองการฉีดวัคซีนของทางการฟิลิปปินส์

ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา รัฐบาลทั่วโลกได้นำเทคโนโลยีบนสมาร์ตโฟนมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้แอปพลิเคชันติดตามผู้สัมผัส ซึ่งก่อให้เกิดข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการป้องกันโรคตามมา ความกังวลเหล่านี้ยิ่งทวีคูณมากขึ้นเมื่อเกิด ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ซึ่งหลายประเทศเริ่มบังคับใช้แล้วสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ การเดินทางท่องเที่ยว และเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ โดยต้องมีการบันทึกข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลได้และข้อมูลการรักษาพยาบาลของประชาชนจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างระบบวัคซีนพาสปอร์ตที่ว่านี้ขึ้นมา

เนื่องจากระดับการป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของวัคซีนที่ลดลงในหลายพื้นที่ เราจำเป็นต้องถกเถียงกันว่าวัคซีนพาสปอร์ตมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการบริหารจัดการโรคระบาดหรือไม่ หรือมันเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยอีกมากมายเท่านั้น

ฝ่ายสนับสนุนวัคซีนพาสปอร์ตระบุว่า ไม่ว่าวัคซีนพาสปอร์ตจะมีประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน แต่การบังคับใช้วัคซีนพาสปอร์ตก็ช่วยกระตุ้นอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชน ซึ่งสามารถลดการแพร่ระบาดได้จริง ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยระบุว่ามาตรการแบบนี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล และเป็นเพียงมาตรการป้องกันระดับรองเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการหลัก นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรม กฎหมาย และเทคโนโลยีอีกมากมายด้วยว่ามาตรการเหล่านี้ยิ่งทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมในสังคมรุนแรงขึ้น

วัคซีนพาสปอร์ตถูกมองเป็นเหมือนยารักษาสารพัดโรค แต่ยังไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิภาพที่ชัดเจน

ในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ประชาชนถูกขอให้แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนเมื่อเข้าสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านทำผม หรือห้างสรรพสินค้า ที่บรูไน หลักฐานการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยสองเข็มต้องถูกแสดงก่อนเข้าศาสนสถาน บางรัฐในออสเตรเลียกำหนดให้กิจกรรมบางอย่าง เช่น การพบปะเข้าสังคม การเข้าสถานบันเทิง เป็นสิ่งที่ถูกสงวนให้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียและฮ่องกงที่ภาครัฐกำลังพิจารณาให้สิทธิพิเศษผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วในลักษณะใกล้เคียงกัน

การมาถึงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนยิ่งทำให้รัฐบาลหลายประเทศตอบสนองด้วยมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน พร้อมๆ ไปกับการติดตามสอดแนมชีวิตประจำวันของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งในฟิลิปปินส์ออกมาตรการจำกัดการเดินทางหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการข่มขู่ว่าจะจับกุมผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วย (ยกเว้นผู้ที่มีเอกสารหรือใบอนุญาตการเดินทาง)

ใบรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายผ่าน QR code ทำให้วัคซีนพาสปอร์ตถูกนำมาใช้งานและขยายระบบได้อย่างรวดเร็วในงบประมาณที่ต่ำ ใบรับรองการฉีดวัคซีนในแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ใช้วิธีการจัดเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนของผู้ใช้ในรูปแบบ QR code ที่ผ่านการแฮชหรือการทำให้เป็นโทเคน โดยส่วนใหญ่เราจะเข้าถึง QR code เหล่านี้ได้ผ่านทางแอปพลิเคชันติดตามผู้สัมผัส เช่น BruHealth ของบรูไน PeduliLindungi ของอินโดนีเซีย หรือ MySejahtera ของมาเลเซีย

 

ประเทศต้องใช้เพื่อเข้าสถานที่ต่างๆ ในประเทศช่องทางการขอใบรับรองแบบดิจิทัลข้อมูลส่วนตัวบนใบรับรอง (นอกเหนือจากรายละเอียดการฉีดวัคซีน)ใบรับรองที่ใช้ได้ (นอกเหนือจากใบรับรองแบบดิจิทัล)
ออสเตรเลียต้องใช้ โดยกฎระเบียบจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐและดินแดนระบบติดตามผู้สัมผัสของรัฐ, ระบบ My Health Record บนแอปฯ Healthi หรือ HealthNow, ผู้ให้บริการวัคซีนชื่อ, วันเกิด, เพศ, หมายเลขพาสปอร์ตใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา, ใบรับรองแบบกระดาษ, ประวัติการฉีดวัคซีน
บรูไนต้องใช้แอปฯ BruHealthหมายเลขเวชระเบียน , ชื่อ, หมายเลขบัตรประชาชน,, หมายเลขพาสปอร์ต, อายุ, เพศ, วันเกิด, หมายเลขโทรศัพท์ใบรับรองแบบกระดาษ
ฮ่องกงไม่ต้องใช้ (แต่กำลังมีการทบทวน)แอปฯ LeaveHomeSafe, แอปฯ iAM Smart, แอปฯ eHealth, ศูนย์ฉีดวัคซีนชื่อ, วันเกิด, เพศใบรับรองแบบกระดาษ
อินเดียไม่ต้องใช้แอปฯ Crown
ชื่อ, อายุ, เพศ, หมายเลขบัตรประชาชน, หมายเลขเวชระเบียน ใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา
อินโดนีเซียต้องใช้ สำหรับบางสถานที่หรือบางกิจกรรมในบางพื้นที่ แอปฯ หรือเว็บไซต์ PeduliLindungi, ทาง SMS, ทาง WhatsAppชื่อ, หมายเลขบัตรประชาชน, วันเกิดใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา
มาเลเซียต้องใช้แอปฯ MySejahteraชื่อ, สัญชาติ, หมายเลขบัตรประชาชน (พร้อมแสดงสถานที่เกิดและสัญลักษณ์เพศ), หมายเลขพาสปอร์ต, วันเกิดใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา
นิวซีแลนด์ต้องใช้เว็บไซต์ My Covid Record, ทางโทรศัพท์, ศูนย์ฉีดวัคซีนชื่อ, วันเกิดใบรับรองแบบกระดาษ, ใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา
ฟิลิปปินส์ต้องใช้เว็บไซต์ VaxCertPH
ชื่อ, วันเกิด, เพศใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา
สิงคโปร์ต้องใช้แอปฯ HealthHub, แอปฯ TraceTogetherชื่อ, หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขพาสปอร์ต, วันเกิดใบรับรองแบบดิจิทัลที่พิมพ์ออกมา

ตารางสรุประบบวัคซีนพาสฟอร์ตในประเทศต่างๆ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2565)

 

ความปลอดภัยทางดิจิทัล: ข้อมูลจำนวนมากเสี่ยงถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัลถือเป็นเอกสารระบุตัวตนประเภทหนึ่ง มาตรการที่กำหนดให้ประชาชนต้องใช้วัคซีนพาสปอร์ตสำหรับเช็กอินเพื่อเข้าสถานที่หลายๆ แห่งนั้น อาจกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการคุกคามและเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้โดยง่าย โดยผู้ก่อเหตุทั้งที่เป็นภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ

การทำให้ระบบวัคซีนพาสปอร์ตใช้งานได้จริงหมายความว่าการตรวจสอบความถูกต้องของช้อมูลเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลนั้นจำเป็นต้องทำได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่ง QR code ถือเป็นทางออกในจุดนี้ เมื่อผู้ใช้เชื่อมข้อมูลการฉีดวัคซีนของตนกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกสร้างและจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล อย่างไรก็ตาม การที่มีฐานข้อมูลกลางสำหรับเก็บและโอนย้ายข้อมูลเช่นนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลและความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อไม่มีระบบป้องกันการควบคุมและเข้าถึงอย่างเข้มงวดและการเข้ารหัสที่หนาแน่นพอ

ที่อินโดนีเซีย ใบรับรองการฉีดวัคซีนของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่รั่วไหลออกมาก่อนหน้าทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลทางการแพทย์ในระบบ ขณะที่ในฟิลิปปินส์ ผู้ใช้หลายคนพบข้อผิดพลาดบนใบรับรองการฉีดวัคซีนของพวกเขา ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าระบบอาจมีปัญหาด้านการเข้ารหัสดิจิทัลและกระบวนการจัดเก็บข้อมูล

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาและข้อบกพร่องทางเทคนิคของระบบวัคซีนพาสปอร์ตในหลายประเทศที่ยังพึ่งพาฐานข้อมูลกลาง ทั้งที่จริงแล้วยังมีระบบทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า เช่น ระบบตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีนแบบกระจายผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน

อีกประเด็นสำคัญหนึ่งคือความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุการณ์รั่วไหลของข้อมูลจากระบบวัคซีนพาสปอร์ตขึ้น? นอกจากนี้ ยังควรมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อความไม่โปร่งใสในการจัดเก็บและใช้งานข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่ครอบคลุมเพียงพอ เช่น บรูไนและอินโดนีเซีย

สิทธิดิจิทัลและกระบวนการตรวจสอบด้านจริยธรรม

การไม่เห็นด้วยกับวัคซีนพาสปอร์ตไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นการต่อต้านการฉีดวัคซีน หากแต่เป็นการเรียกร้องให้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางดิจิทัลมากขึ้น ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจำเป็นต้องหาทางออกในการสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการปกป้องสิทธิของประชาชน รัฐบาลต่างๆ รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการโรคระบาดต้องมีความรับผิดชอบและพร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้าถึงและใช้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอย่างเกินขอบเขต

สำหรับวัคซีนพาสปอร์ตนั้น เราจำเป็นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อไปนี้:

  • จุดประสงค์ที่แท้จริงของวัคซีนพาสปอร์ตคืออะไร? มันเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้างที่ได้ผลจริงหรือไม่?
  • ระบบวัคซีนพาสปอร์ตปกป้องข้อมูลส่วนตัวและความเป็นส่วนตัวของเราหรือไม่? ข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลได้ประเภทใดบ้างที่ถูกเปิดเผย และถูกเปิดเผยต่อใคร? เรามีกฎหมายและเทคโนโลยีที่เพียงพอในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวจากการรั่วไหลแล้วหรือยัง?
  • ระบบวัคซีนพาสปอร์ตสามารถเข้าถึงผู้ใช้ที่เป็นผู้ทุพพลภาพได้หรือไม่ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือผู้ที่มีทักษะทางสติปัญญาจำกัด และสำหรับกลุ่มคนชายขอบอย่างแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาตและบุคคลไร้รัฐ ระบบวัคซีนพาสปอร์ตจะยิ่งเป็นการกีดกันพวกเขาไม่ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นหรือเปล่า?

การเสนอมาตรการเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดไม่ว่าในรูปแบบใดจำเป็นต้องถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงแทนที่จะมีการนำมาบังคับใช้อย่างเร่งรีบและไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่าเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้นั้นถูกต้องและเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และไม่เป็นการละเมิดสิทธิดิจิทัลและสิทธิมนุษยชนของประชาชน


Khairil Zhafri เป็นผู้จัดการด้านสิทธิดิจิทัลและเทคโนโลยีของ EngageMedia
Katerina Francisco ผู้ประสานงานกองบรรณาธิการของ EngageMedia มีส่วนในการเขียนบทความนี้
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพวกเขาได้ที่เว็บไซต์ของเรา

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *